Friday, January 29, 2010

การกรน - ภัยร้ายที่คุณอาจคาดไม่ถึง

การกรน

การกรนมีหลายประเภท สามารถแบ่งออกได้เป็น

1. กรนธรรมดา: ผู้ป่วยมักไม่เดือดร้อน แต่คนรอบข้างเดือดร้อนจากเสียงดัง หรือผู้ป่วยอาจเดือดร้อนในการเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่น
2. กรนอันตราย: ผู้ป่วยและคนรอบข้างเดือดร้อน ถ้าไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ถ้าต้องขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้ นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง และอาจมีอายุสั้น อยู่ได้ไม่นาน โดยเฉพาะถ้าดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบาต่อชั่วโมงมากกว่าหรือเท่ากับ 20 ครั้งในหนึ่งคืน

การรักษา
การรักษามี 2 ทางเลือก คือ วิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด ซึ่งท่านสามารถเลือกได้เพราะการรักษาอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเสมอไป ในที่นี้อยากแนะนำให้ใช้วิธีไม่ผ่าตัดก่อน ถ้าไม่ดีขึ้นหรือไม่ชอบหรือไม่สะดวก ท่านสามารถเลือกวิธีผ่าได้ภายหลังได้

วิธีไม่ผ่าตัด
1. ลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักตัวเกินมาตราฐาน ควรลดน้ำหนักเนื่องจาก ผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตราฐาน จะมีไขมันมาพอกรอบคอ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบน ตีบแคบ การลดน้ำหนัก จะช่วยลดไขมันดังกล่าว ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น

2. ให้ทดลองใช้เครื่องเป่าลมในทางเดินหายใจส่วนบน (CPAP) ปกติเวลานอนเพดานอ่อนและลิ้นไก่ที่ยาว และโคนลิ้นที่โต จะตกลงมาบังทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ ลมที่เป่าเข้าไป จะไปถ่างทางเดินหายใจให้กว้างออก ทำให้ไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ ผู้ป่วยไม่กรน และไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ปัจจุบันตัวเครื่องมีขนาดเล็กสามารถพกพาได้ค่อนข้างสะดวก การใช้เครื่องเป่าลมจะเหมือนกับการใส่แว่นตาใหม่ๆ คืออาจจะรู้สึกอึดอัดบ้างในช่วงแรก ต้องใส่ๆ ถอดๆ เมื่อชินก็จะใส่ได้เอง

ควรใช้เครื่องปรับอากาศให้อุ่นและชื้นขึ้น (HUMIDIFIER)ร่วมด้วยเสมอ เพราะการที่ลมเป่าจมูกเรื่อยๆ ถ้าเป็นลมแห้งและเย็น (โดยเฉพาะถ้านอนเปิดพัดลม หรือ แอร์) จะทำให้เยื่อบุจมูกบวม เกิดอาการคัดจมูกได้ง่าย ซึ่งจะทำให้เครื่องเป่าลมเย็นต้องเพิ่มความดันมากขึ้น ในการที่จะเอาชนะโพรงจมูกที่ตีบแคบ อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอึดอัดมากขึ้นได้

3.ใส่ที่ครอบฟัน แนะนำให้ปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำเครื่องครอบฟัน (Oral Appliance) ปกติเวลานอนหงาย ขากรรไกรล่างและลิ้นจะตกตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนตีบแคบ การใส่เครื่องครอบฟันจะช่วยยึดขากรรไกรบนและล่างเข้าด้วยกัน และเลื่อนขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้าและป้องกันไม่ให้ลิ้นและขากรรไกรตกลงตามแรงโน้มถ่วงของโลก ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหานอนกรนธรรมดาหรือเป็นกรนอันตรายที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง (ดัชนีหยุดหายใจและหายใจแผ่วเบาน้อยกว่า 30 ครั้งต่อชั่วโมง)

วิธีผ่าตัด
1. การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อนและลิ้นไก่โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency-Assisted Uvulopalatoplasty:RAUP) - ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดแก้ไขอาการนอนกรน โดยเอาเนื้อเยื่อที่หย่อนยานบริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อนออกทีละน้อย โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจบริเวณคอหอยกว้างขึ้น โดยการใช้ยาชาเฉพาะที่
ข้อดี: อาการปวดหรือเจ็บแผลหลังผ่าตัดน้อยกว่าการใช้แสงเลเซอร์ผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังผ่าตัดโดยไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
หลังผ่าตัด: จะมีแผลที่ผนังในคอทั้งสองข้าง อาจมีอาการเจ็บคอจากแผลผ่าตัด หรือมีไข้ ควรทานอาหารเหลวที่เย็น หรืออาหารอ่อนๆ
ภาวะแทรกซ้อน: เลือดออกจากแผลผ่าตัด แผลผ่าตัดติดเชื้อ แต่พบได้น้อย

2. การผ่าตัดตกแต่งเพดานอ่อนและลิ้นไก่ Uvulopalatopharyngoplasty (UPPP) - ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดแก้ไขโดยเอาต่อมทอนซิล ลิ้นไก่ และเนื้อเยื่อที่หย่อนยานบริเวณผนังคอหอยออกทางปากโดยไม่มีแผลภายนอก ใช้วิธีดมยาสลบ ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจบริเวณคอหอยกว้างขึ้น
ก่อนผ่าตัด: ต้องเข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลก่อนหนึ่งวันเพื่อเตรียมความพร้อมในการดมยาสลบ บางรายแพทย์อาจแนะนำให้นอนห้อง ICU หลังผ่าตัด 1 คืนเพื่อสังเกตการหายใจหลังผ่าตัด
หลังผ่าตัด: จะมีแผลและวัสดุเย็บแผลที่ผนังในคอทั้ง 2 ข้าง อาจมีอาการเจ็บคอจากแผลผ่าตัด หรือมีไข้ ควรทางอาหารเหลวและเย็น
ภาวะแทรกซ้อน: เลือดออกจากแผลผ่าตัด แผลผ่าตัดติดเชื้อ แต่พบได้น้อย ระยะแรกเวลาดื่มน้ำ จะมีสำลักออกจมูกได้บ้าง จึงควรดื่มน้ำและรับประทานอาหารอย่างระมัดระวัง ส่วนใหญ่จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

การผ่าตัดไม่ได้รักษาอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจให้หายขาด หลังผ่าตัด อาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจจะยังเหลืออยู่ หรือมีโอกาสกลับมาใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สิ่งที่สำคัญคือ
1. ต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้ดี อย่าให้เพิ่ม เนื่องจากการผ่าตัดเป็นการขยายทางเดินหายใจที่แคบให้กว้างขึ้น ถ้าน้ำหนักเพิ่มหลังผ่าตัด ไขมันก็จะไปสะสมอยู่รอบผนังช่องคอ ทำให้ช่องคอกลับมาแคบใหม่ได้ ทำให้อาการนอนกรนหรือหยุดหายใจกลับมาใหม่ได้
2. ต้องหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนตึงตัวและกระชับ


ข้อมูล: ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน

No comments:

Post a Comment